กระแสการบริโภควิถีไทยกับการก้าวให้ทันแบบอย่างตะวันตก ตอนที่ 1
การสื่อสารไร้พรมแดนในทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจใหม่ พร้อมกับการยอมรับวิถีชีวิตแบบตะวันตก วิถีการบริโภคแบบตะวันตกที่ผ่านเข้ามาทางสื่อต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ โฆษณา สารคดี การท่องเที่ยว อื่นๆ ผู้รับสื่อได้เผลอรับเอาวิถีแบบตะวันตกโดยไม่ตั้งใจ โดยถือว่าเป็นวิธีการกินดีอยู่ที่ดี ซึ่งต้องแตกต่างจากวิถีไทยที่เป็นอยู่ กอปรกับการดำเนินชีวิตแบบไทยไม่มีวิธีใดที่จะเหนี่ยวรั้ง ให้เกิดความผูกพัน ความภาคภูมิใจและพอใจกับวิถีการดำรงชีวิตแบบพอเพียง การรับเอาสื่อต่างๆ เข้ามาจึงโน้มน้าวจิตใจให้คล้อยตามกระแสการพัฒนาแบบตะวันตกได้ง่าย โดยเชื่อว่าจะนำมาซึ่งความสุข แต่ความสุขนั้นต้องจำแนกอีกว่าเป็นความสุขที่ได้จากการสัมผัสสิ่งที่แตกต่างหรือเป็นความสุขที่ได้จากการสัมผัสสิ่งที่ดีกว่า แม้สิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า ก็ต้องแยกอีกว่าเป็นสิ่งที่ดีกว่าที่แท้จริงหรือเป็นสิ่งที่ดีกว่าเพียงเพราะเป็นสิ่งที่แตกต่างจากผู้อื่น แต่ในความเป็นจริงอาจไม่นำความสุขกว่ามาให้ผู้รับสื่อเลย
การขาดการเชื่อมโยงที่ดีว่า แนวทางการดำรงชีวิตที่ถูกต้องตามครรลองของการดำรงชีวิตแบบยั่งยืนนั้นควรเป็นไปในลักษณะใด จึงเกิดช่องว่างจากการรับเอาแบบอย่างตะวันตกเข้ามาโดยไม่ทันรู้ตัว และคิดว่านั่นคือวิถีการดำรงชีวิตที่ต้องเป็นไป เพื่อให้ได้มาซึ่งการครอบครองเอาวัตถุสิ่งของที่มีอยู่ในตะวันตก ถือเป็นส่วนหนึ่งของความทันสมัย การก้าวให้ทันอารยธรรมตะวันตก เมื่อไม่มีสิ่งเหนี่ยวรั้งจิตใจให้เกิดความภาคภูมิใจถึงความเป็นไทย การหล่อหลอมจากสื่อจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและวิถีการบริโภคได้โดยง่าย เกิดเป็นแบบแผนชีวิตตะวันตกในเมืองไทย ซึ่งมองข้ามคุณค่าการดำรงชีวิตแบบตะวันออก แบบวิถีไทย ที่สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพภูมิภาคตะวันออกเป็นอย่างดี ดังนั้นในแต่ละวันที่ผ่านไป จึงเป็นการแสวงหาสิ่งที่แปลกแตกต่างไปจากเดิม แทนที่จะหาความสุขที่ยั่งยืน เมื่อทุกคนขาดการวิเคราะห์และการใช้วิจารณญาณอย่างเพียงพอ ทำให้มีการรับและปฏิบัติตามตะวันตกโดยง่าย กอปรกับวิถีการเรียนรู้ ศึกษาเล่าเรียนที่รับเอาแนวทางและเทคโนโลยีตะวันตกของคนจำนวนไม่น้อย ทำให้คนเหล่านั้นเชื่อว่าสังคมไทยจะต้องพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ตนเองเคยไปสัมผัส เคยไปศึกษาเล่าเรียนจากต่างประเทศ โดยลืมนึกถึงศักยภาพของท้องถิ่นนั้นๆ
ความทันสมัย จึงได้กลายเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างต่อเนื่อง และเป็นเรื่องที่ยากมาก ที่จะบอกว่า ปัจจุบันทันสมัยแล้ว เมื่อสิ่งที่มีอยู่มากมาย การเปลี่ยนแปลง ที่เกิดตลอดเวลาในสังคมตะวันตก ที่รับรู้ผ่านสื่อการรับรู้ผ่านสื่อต่างๆ ทำให้รู้ว่าสังคมตะวันออกอย่างไทย ยังมีการเปลี่ยนแปลงไม่เพียงพอ ยังตามไม่ทัน ดังนั้นกระบวนการขับเคลื่อน ให้เกิดความทันสมัยยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่เป็นได้ยากที่ให้เกิดความทันสมัยอย่าง ถึงขั้นเพียงพอพร้อมจะหยุดแล้ว สิ่งที่ดีที่สุดคือลอกเลียนแบบการบริโภคแบบตะวันตกบนพื้นฐานการใช้ชีวิตแบบตะวันออก ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตและหามาได้ซึ่งทรัพยากรต่างๆในอัตราที่ต่ำกว่าการหามาได้ในตะวันตกอย่างมาก เปรียบเหมือนการบริโภคด้วยต้นทุน ค่าใช้จ่ายสูง ขณะที่มีศักยภาพการผลิตต่ำ ทำให้วิถีชีวิตแบบตะวันออกอยู่ในภาวะขาดดุล และไม่สมดุลอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนจากแนวทางการดำรงชีวิตจากตะวันออกเป็นตะวันตกเป็นอย่างต่อเนื่องและกลมกลืนกับวิถีชีวิตเป็นอย่างดี เพราะวิธีการดังกล่าวผ่านการเรียนรู้ในห้องเรียนด้วยสื่อต่างๆ ด้วยคุณค่าที่ให้แก่สังคมการดำเนินวิถีชีวิตแบบตะวันตกได้มากกว่าแบบไทย จนบางครั้งทำให้ดูว่าการดำรงชีวิตแบบไทยเป็นเรื่องล้าสมัย ไม่ทันเหตุการณ์ไม่สอดคล้องกับสภาวะที่ต้องการพัฒนา ขณะเดียวกันทิศทางการเปลี่ยนแปลงโดยผู้นำหล่อหลอมให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจต่อการบริโภครองรับการผลิตในหลากหลายสาขาที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศ เป็นพื้นฐานก่อนที่ขยายสู่การส่งออก การที่สังคมมีการบริโภคมากทำให้เกิดการเติบโตทางการผลิต ซึ่งการเติบโตทางการผลิตเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้เกิดความเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ ผู้นำจากกลุ่ม พรรค หรือคณะบุคคลที่เข้ามาปกครองบ้านเมือง มุ่งเน้นการเติบโตด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก เน้นผลิตภัณฑ์มวลรวมเป็นหลัก เป็นดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าของสังคมในแต่ละช่วงเวลา โดยลืมนึกไปว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่ได้สำคัญใดๆ เลยต่อความสุขของคนในสังคม กลับกลายเป็นความเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจแบบตะวันตก
ตัวชี้วัดแบบตะวันตก ทำให้รู้สึกว่าอยู่ในกระบวนการเดียวกับการพัฒนาและไม่ตกรุ่น ซึ่งการชี้วัดดังกล่าวถูกประเมิน ชี้วัด เปรียบเทียบ จากไทยและต่างประเทศว่าเศรษฐกิจของไทยในแต่ละช่วงเวลาอยู่อัตราส่วนร้อยละเท่าไหร่ ในขณะเดียวกันผู้บริหารและผู้นำประเทศเองก็ประกาศตั้งเป็นนโยบายในอัตราที่สูงเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ การค้าโดยลืมนึกไปว่าท่ามกลางกระแสดังกล่าวทำให้เกิดช่องว่างระหว่างความยากจนและร่ำรวยควบคู่ไปด้วย มีคนได้ประโยชน์ที่ร่ำรวย ฐานผลิตก็มีฐานะยากจน เช่น ฐานการผลิตทางการเกษตร ซื้อปัจจัยผลิตที่สูงซึ่งรัฐเป็นผู้ผลิต แต่จำเป็นต้องขายถูก หลายพื้นที่ไม่คุ้มการลงทุน เกิดภาวะหนี้สิน สูญเสียสินทรัพย์ที่ตกทอดมาแต่บรรพบุรุษ กลายเป็นผู้ขายแรงงาน เป็นผู้ใช้แรงงานแทนผู้ผลิต เป็นผู้ค้าแรงงานในต่างแดน สูญเสียศักยภาพและกำลังการผลิต ถึงขั้นสิ้นหวังในชีวิต ขาดศักยภาพที่จะส่งเสริมบุตรหลานให้ศึกษาเล่าเรียน หลายรายเปลี่ยนสภาพจากผู้ผลิต เจ้าของธุรกิจ กลายเป็นแรงงานการผลิต เป็นผู้เช่าที่ดินตัวเองเพื่อผลิต เป็นผู้มีหนี้สินและหลุดจากการกระบวนการผลิต เป็นผู้ใช้แรงงานในภาคเกษตร พาณิชกรรม อุตสาหกรรม การค้าแรงงานต่างแดน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การปรับตัวเป็นภาวะขาลงของผู้ผลิตที่กระจายครอบคลุมทุกภูมิภาค ได้ดิ้นรนขวนขวายสู่ศูนย์กลางการผลิต เกิดการเติบโตของเมือง การกระจายสู่ชนบทลดลง กลายเป็นสังคมชนบทที่รองรับการผลิตภาคอุตสาหกรรม เป็นสังคมการผลิต รายได้จากการผลิตภาคเกษตรจึงเกื้อหนุนภาคอุตสาหกรรม จนเมืองหลวงกลายเป็นศูนย์กลางย่านอุตสาหกรรมในที่สุด ครอบครัวเกษตรกรหลายครอบครัวผลักดันให้ลูกเรียนสูงๆ เพื่อผลักจากการเป็นเกษตรกร ให้มีการศึกษาติดตัว ไปเป็นแรงงานราคาถูกในภาคอุตสาหกรรม แทนที่จะเป็นผู้มีความรู้ในการพัฒนาท้องถิ่นสู่วิถีชีวิตที่ยั่งยืน ตามแนวทางการดำเนินชีวิตที่บรรพบุรุษสืบทอดมา และดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและคุณภาพที่ดี กลายเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมที่หนาแน่น คนจากทุกภูมิภาคที่รวมตัวกันดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด หมดเวลาแห่งช่วงวันคืนด้วยการรับสื่อ หาความเพลิดเพลินจากสื่อ เพื่อรอเวลาสู้ใหม่วันรุ่งขึ้น วิถีชีวิตของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมปัจจุบัน
แนวคิดการพัฒนาเพื่อตอบสนองทางวัตถุ ได้ผูกพันและเชื่อมโยงกับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาโดยตลอด ที่มุ่งให้เกิดการผลิตเพื่อส่งออก ในกระบวนการและเป้าหมายดังกล่าว ทำให้เกษตรกรเป็นเพียงปัจจัยการผลิตเพื่อขยายการส่งออก ทำให้เกษตรกรลุกล้ำที่ดินสาธารณะเพื่อขยายการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการการส่งออก บนพื้นฐานการผลิตที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของคุณภาพสิ่งแวดล้อมและศักยภาพการผลิตแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกันผู้ผลิตต้องเผชิญกับการผันผวนของราคาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกำลังการต่อรองด้านราคาการค้าระหว่างประเทศในภาวะโลกไม่เข้มแข็งพอ ทำให้ผู้ค้าผู้ผลิตได้ผลตอบแทนไม่เพียงพอ ดังนั้นภาพการต่อรองเผชิญหน้า การเคลื่อนไหวเรียกร้อง ยื่นข้อเสนอ ปิดถนน ชุมนุม เดินขบวน จึงเป็นภาพคุ้นตาในสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาครัฐหมดเวลาไปกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเหล่านี้เมื่อผลผลิตออกสู่ตลาด การแก้ปัญหาดังกล่าวทำให้ขาดโอกาสและเวลาที่จะวางแผนอย่างรัดกุมและต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการผลิตระยะยาว เป็นเรื่องยากที่ผู้ผลิตภาคเกษตรกรรมจะหารายได้อย่างเพียงพอเพื่อตอบสนองความต้องการทางวัตถุของตนเอง ในขณะที่สื่อเรียกร้องให้ผู้ผลิตภาคเกษตรกรรมและเร่งใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นทุกวัน เมื่อสิ้นสุดการผลิต ก็มีรายรับที่ขาดหลักประกันไม่แน่นอน นอกจากนั้นผู้ผลิตต้องเผชิญกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ความแห้งแล้ง น้ำท่วม การแพร่ของโรคและศัตรูพืช การเสื่อมโทรมจากการกัดเซาะ พังทลาย ของดิน ธาตุอาหาร ในแหล่งผลิตของตนเอง ทำให้การผลิตในภาคเกษตรอยู่ในภาวะถดถอยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ส่วนกลางพยายามทำให้เกิดการผลิตเพื่อให้เกิดรายได้ จึงหนีไม่พ้นการหล่อหลอมให้เกิดการบริโภคแบบวัตถุนิยม เพราะฉะนั้นจากที่เคยคิดว่าการทำงานหนักนำสู่ความมั่งมี จึงถูกพิสูจน์ว่าไม่เป็นจริงเสมอไป เมื่อความพยายามดังกล่าวเป็นการตอบสนองความจำเป็นเฉพาะหน้า โดยการรวบรวมรายได้ทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการบริโภค กระบวนการจัดหาวัตถุหลากหลาย เพื่อจะตอบสนองความทันสมัยและการลอกเลียนแบบในลักษณะต่างๆ การพัฒนาและความก้าวหน้าของการผลิตสื่อในประเทศ ซึ่งมีขีดความสามารถสูงที่จะหล่อหลอมและโน้มน้าวให้ผู้บริโภคสนใจ หันมาบริโภคและรองรับการผลิตจากภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ผู้รับสื่อขาดความเข้มแข็งและวิจารณญาณที่เพียงพอที่จะเลือกบริโภค ดังนั้นผู้ผลิตและแรงงานการผลิตทุกคนต้องทำงานหนักแข่งกับเวลาเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยในการดำรงชีวิต แต่ปัจจัยดังกล่าวไปสนับสนุนการบริโภคเพิ่มมากขึ้น โดยขาดการยั้งคิดว่าความสุขที่แท้จริงของการดำรงชีวิตอยู่ที่ใด
เมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้น มุ่งแก้ปัญหาการขาดดุลการค้า การพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตใช้เวลาเกือบทั้งหมดกับกิจกรรมการผลิตในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ แม้แต่วันหยุดเพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพียงพอและคุ้มต่อการลงทุน เพียงพอต่อรายได้ในการชำระหนี้ เพื่อให้อยู่รอดในแต่ละฤดูการผลิตและสามารถผลิตได้อีกในฤดูกาลผลิตต่อไป ฤดูกาลผลิตในภาคเกษตรกรรมเป็นตัวเร่งรัดให้แรงงานไม่ต้องคิด ไม่ต้องตรึกตรองเพราะไม่นานฝนก็จะตก ได้เวลาปลูก ได้เวลาบำรุงดูแล เก็บเกี่ยว นำผลผลิตไปจำหน่าย ความพยายามเร่งรัดในการส่งออกจึงได้พยายามกลบเกลื่อนวิถีชีวิตความเป็นไทย ซึ่งคนไม่น้อยในตะวันตกเห็นว่ามีเสน่ห์และอยากสัมผัส ในขณะที่คนตะวันออก เช่นในประเทศไทยทุ่มเทชีวิตและทรัพยากรเพื่อการผลิต ลืมคุณค่าวิถีไทยโดยสิ้นเชิง ทำให้ผู้ที่แสวงหาอยากสัมผัสวิถีชีวิตแบบตะวันออก ต้องผิดหวัง การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย จึงกลายเป็นการสัมผัสเห็นวัตถุ อนุสรณ์ความเจริญงอกงามในอดีต โดยที่คนในตะวันตกแทบไม่เห็นวิถีชีวิตไทยๆ หลงเหลืออยู่เลย ผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ใช้แรงงานจึงอยู่ในสภาวะที่ไม่แตกต่างกัน คือ ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง ครอบครัว ชุมชน โดยลืมไปว่าความอยู่รอดของตัวเองนั้นไม่สามารถอยู่ได้ หากระบบนิเวศรอบตัวไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ปัจจัยทางด้านนิเวศวิทยาและแหล่งทรัพยากรที่ถูกใช้เพื่อรองรับการบริโภค การจำหน่าย การเลี้ยงชีพของตัวเอง โดยไม่มีข้อจำกัด เป็นเหตุให้ฐานทรัพยากรและสมดุลของระบบนิเวศสูญเสียไปในที่สุด มีผู้ผลิตไม่น้อยทุ่มเทชีวิตเพื่อการผลิตและส่งออก แต่เมื่อถึงเวลาตอบคำถามและดิ้นรนเพื่อการอยู่รอดกลับต้องไปหาของป่าหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว เพื่อนำไปบริโภค จำหน่าย และใช้แหล่งทรัพยากรธรรมชาติรองรับการผลิตของตัวเอง เช่น ใช้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าอุทยานเลี้ยงสัตว์ เป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมโทรม ร่อยหรอของแหล่งทรัพยากร เกิดการกัดเซาะพังทลาย การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศเสียสมดุล เกิดการลดน้อยถอยลงของทรัพยากรสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
การเพิ่มประชากรจาก 30 กว่าล้านคนเป็น 60 กว่าล้านคน เป็นตัวชี้วัดสำคัญให้เห็นว่าความพยายามทุ่มเทที่จะตอบสนองการบริโภคของภาครัฐและเอกชน เป็นความพยายามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หรือเรียกว่า Supply site เป็นการบริหารจัดการการผลิตโดยไม่เข้าไปจัดการการบริหารความต้องการอย่างแท้จริง การควบคุมจำนวนประชากรอย่างเหาะสมได้ถูกหยิบยกมาพูดเป็นครั้งคราว เพื่อลดจำนวนการเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็ว แต่ในท้ายที่สุดการควบคุมอย่างต่อเนื่องนั้นไม่ได้เกิดขึ้น เป็นผลให้จำนวนประชากรขยายตัวอย่างไม่สมดุลกับศักยภาพการผลิต การเพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็วเกิดขึ้นในเขตเมืองและเขตอุตสาหกรรม มีการกระจายของประชากรไม่สม่ำเสมอ เป็นเหตุให้เกิดการอพยพผู้คนเข้าสู่ศูนย์กลางการค้า การศึกษา การบริการในเมืองใหญ่ การให้บริการสาธารณสุข และการบริการขั้นพื้นฐานในชนบทไม่ได้รับการเอาใจใส่อย่างเพียงพอ เป็นเหตุให้คุณภาพชีวิตของคนในชนบทแตกต่างกันคนในเมืองอย่างเห็นได้ชัด เป็นแรงขับเคลื่อนให้ผู้ผลิตในภาคเกษตรกรรมในชนบทดิ้นรนให้ตัวเองหลุดจากภาวะด้อยพัฒนา ภาวะขาดแคลนการบริการ ขาดแคลนสาธารณูปโภคที่เพียงพอ เข้าสู่วิถีชีวิตความเป็นเมือง เข้าสู่การตั้งถิ่นฐานในเขตเมือง ทิศทางการบริหารจัดการ และการควบคุมจำนวนประชากรที่ขาดความต่อเนื่อง ขาดเป้าหมายที่ชัดเจน ขาดการระดมสมองและการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เป็นเหตุให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นจนยากต่อการบริหารจัดการ กลายเป็นปัจจัยสำคัญของภาคการผลิต เป็นปัจจัยสำคัญของการตัดสินใจของภาครัฐที่ใช้มาตรการพยากรณ์และผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการที่ขยายตัว เรียกว่า Predict and Provide เช่น กรณีที่มีการเพิ่มจำนวนประชากรภาคเกษตรกรรม การขยายตัวของพื้นที่การผลิต ความพยายามในการตอบสนองความต้องการของภาครัฐ จึงเกิดการพยากรณ์ความต้องการและหาหนทางจัดหาผลผลิตให้ทันกับการบริโภค เช่น จัดหาแหล่งน้ำ จัดหาพลังงาน การจัดระบบขนส่งให้เพียงพอ ฉะนั้นการเพิ่มและการเปลี่ยนแปลงประชากรจึงเป็นไปอย่างขาดการควบคุมและขาดการบริหารจัดการที่เหมาะสม และมีทิศทางที่สอดคล้องกับศักยภาพการผลิตของทรัพยากรธรรมชาติอย่างแท้จริง
บทความโดย อ.ธนวันต์ สินธุนาวา
นายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม