สงครามเคมีใกล้ตัวที่เรามีส่วนทำให้เกิด

พอพูดถึงสงครามทุกคนก็กลัวกันทั้งนั้น  อาวุธที่นำมาใช้ก็มีอานุภาพรุนแรง มากขึ้นตามลำดับเช่นฆ่าทั้งผู้คนและสัตว์ทุกชนิด  นอกจากนี้ยังทำลายระบบนิเวศ   พืชพรรณ   ดิน และน้ำจนยากต่อการฟื้นสภาพอีกนาน  ยิ่งเจออาวุธเคมีด้วยแล้ว  ผลตกค้างจะยาวนานจนกำหนดไม่ได้เพราะอาจมีผลต่อพันธุกรรมของพืชและสัตว์ที่เราต้องพึ่งพาและใช้เป็นอาหาร  แต่พอสงครามไม่เกิดขึ้นหลายคนก็โล่งอกไม่ต้องกังวลอะไร  และก็ขอให้การเผชิญหน้าทั้งในตะวันออกกลางและที่อื่น ๆ จะยุติลงได้  แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าการสู้รบจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตามพวกเราทุกคนต้องรับผลกระทบจากอาวุธเคมีโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  และเป็นอาวุธเคมีที่ถูกนำมาใช้ใกล้ตัวเราทุกวันเป็นเวลาหลายปี  ติดต่อกันมาแล้ว เพียงแต่เราไม่มีความรู้และความเข้าใจเพียงพอว่าอาวุธร้ายแรงเหล่านี้มีผลต่อสุขภาพร่างกายทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างไร

แต่ที่น่าแปลกที่สุดก็คือเราเป็นผู้ที่มีส่วนให้มีการนำอาวุธเคมีมาใช้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง  และพื้นที่ที่มีการใช้อาวุธเคมีที่อันตรายมากกลับไม่ใช่แนวพรมแดน  หรือสนามรบแนวหน้าที่ไหน  แต่เป็นพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรเรานี่เอง ที่เกษตรกรเอาอาวุธเคมีมาห้ำหั่นศัตรูพืชหลายต่อหลายชนิด  ตลอดทั้งปีและทุกฤดูกาลเพาะปลูก

เหตุที่ว่าเราเป็นผู้มีส่วนอย่างสำคัญในการนำเอาอาวุธเคมีเข้ามาใช้เพิ่มมากขึ้นนั้นเนื่องจากวิถีการบริโภคที่ไม่หลากหลายทั้งผักและผลไม้  การบริโภคซ้ำซากอย่างต่อเนื่องเป็นเหตุให้มีการปลูกพืชน้อยชนิดลง  ด้วยมุ่งตอบสนองความต้องการพืชผักและผลไม้ยอดฮิตที่เป็นที่ต้องการสูงของตลาด  ซึ่งเป็นการส่งเสริมการแพร่ระบาดของศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว  และเพื่อให้ได้ผลผลิตคุ้มค่าต่อการลงทุน  เกษตรกรก็ต้องปกป้องผลผลิตของตนเองด้วยการใช้ยาและสารเคมีหลายชนิดและปริมาณมาก เพื่อฆ่าและทำลายศัตรูพืชทุก ๆ ระยะ การเติบโตของพืช  และยิ่งมีการบริโภคนอกฤดูกาลของผักและผลไม้ยิ่งทำให้การเพาะปลูกของเกษตรไม่จำกัดอยู่ในขอบเขตที่ธรรมชาติจะเอื้อประโยชน์ต่อการเติบโตได้ดีเท่านั้น  เกษตรกรจะปลูกด้วยการใช้เทคโนโลยีทันสมัยเพื่อควบคุมปริมาณน้ำ  อาหาร และธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเติบโตของพืช  เมื่อเติบโตดีแล้ว มีการรบกวนของศัตรูพืช เกษตรกรก็จะปกป้องผลผลิตด้วยการใช้สารเคมีที่สามารถทำลายศัตรูพืชได้โดยทันที ซึ่งจะต้องมีความรุนแรงและเป็นอันตรายมาก  และโดยทั่วไปแล้ว  เพื่อให้ได้ผลในการกำจัดศัตรูพืชอย่างแท้จริง  เกษตรกรจะใช้ปริมาณมาก  สารเคมีเพียงไม่ถึงร้อยละสิบที่มีผลต่อศัตรูพืชอย่างจริงจังที่เหลืออีกร้อยละเก้าสิบจะตกค้างอยู่ที่พืช ผลผลิต ดิน และน้ำในแหล่งเพาะปลูก  ซึ่งก็จะถ่ายทอดสู่ผู้บริโภคทางบ่วงโซ่อาหารในเวลาต่อมา

สงครามที่มีการต่อสู้ด้วยอาวุธเคมีที่แท้จริงและอันตรายต่อการดำรงชีวิตและสุขภาพของผู้บริโภคอย่างกว้างขวางมิใช่สงครามระหว่างชนชาติหรือลัทธิที่มีการเผชิญหน้ากันอยู่  ประเทศไทยไม่ได้ให้การสนับสนุนการสู้รบในทุกภูมิภาคทั่วโลกมากนัก  แต่คนไทยผู้บริโภคก็ยังได้รับผลกระทบจากสารเคมีที่ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธในการต่อสู้แย่งชิงผลผลิตจากการเกษตรในแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง

ถ้าอยากให้ผลกระทบดังกล่าวมาถึงตัวผู้บริโภคและพวกเราทุกคนน้อยลง  และอยากให้ความรุนแรงจากการใช้อาวุธเคมีในการสู้รบเพื่อแย่งชิงผลผลิตทางการเกษตรลดน้อยลง  พวกเราจะต้องหันมาบริโภคพืชผักและผลไม้ที่หลากหลายกว่านี้  โดยหลีกเลี่ยงการบริโภคซ้ำซาก เช่น การบริโภคผักคะน้าของพวกเราทุกวันนี้  ถ้าจะหาผักและผลไม้ที่หลากหลายอาจหาได้จากตลาดสด  ไม่ใช่จากซุปเปอร์มาร์เก็ตทันสมัย  เนื่องจากผักและผลไม้ที่หลากหลายมักจะไม่อยู่ในรายการสั่งซื้อมาจำหน่ายของฝ่ายจัดซื้อจากห้างทันสมัย  แต่จะหาได้จากเกษตรกรชาวสวนและผู้ค้ารายย่อยที่ใส่กระด้ง กระบุงมาวางขายตามตลาดสด  ซึ่งบางทีผู้บริโภคเห็นแล้วก็มองผ่านไปไม่ได้สนใจ  เนื่องจากไม่รู้จักจะถามก็เกรงว่าจะถูกมองว่าไม่รู้จักอะไรซะเลย  จึงไม่ถามและไม่ซื้อ

  ส่วนการบริโภคนอกฤดูกาลผลิตก็จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดการใช้สารเคมีในแปลงเพาะปลูก  คราวนี้จะทราบได้อย่างไรว่าผักและผลไม้อะไรบ้างที่ออกมาตามธรรมชาติในแต่ละเดือน  ถ้าจะหาคำตอบต่อคำถามนี้คงต้องพึ่งหน่วยราชการ  เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร  หรือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรอีกหลายแห่ง  ที่น่าจะให้ความอนุเคราะห์ได้  แต่ถ้าหาไม่ได้จริง ๆ ปรึกษา สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้เลยว่าเดือนนี้น่าจะมีผักและผลไม้อะไรออกมาบ้าง  เล็ก ๆ น้อย ๆ ใกล้ตัวอย่างนี้คงจะช่วยลดความรุนแรงจากสงครามเคมีใกล้ตัวได้มากเลยครับ


บทความโดย
ดร.ธนวันต์  สินธุนาวา
นายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม