บริโภคอย่างไรให้ยั่งยืน ในแบบฉบับผู้บริโภคสีเขียว ตอนที่ 2

ในเมืองใหญ่ในปัจจุบัน ปัญหาปริมาณขยะตกค้างกำลังเป็นปัญหาใหญ่ การกำจัดขยะยังมีความจำเป็นต้องใช้วิธีการเทกอง เพื่อให้ขยะย่อยสลายบนพื้นดิน หรือการฝังกลบซึ่งเป็นวิธีการที่เหมาะสม แต่ก็ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่มาก นอกจากนั้นก็มีการทิ้งขยะในบ่อลึกซึ่งเคยเป็นบ่อขุดดินขายของเอกชนใน แหล่งต่าง ๆ  ซึ่งก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ว่า ขยะที่ลงไปอยู่ในบ่อลึกจะสร้างความเป็นพิษให้กับน้ำระดับใต้ดินหรือไม่

ปัญหาขยะจึงยังคงมีอยู่ต่อไป และมักเกิดกรณีพิพาทขึ้นเป็นระยะ ๆ วิธีการที่ดีที่สุดคือการสร้างโรงงานกำจัดขยะ ซึ่งจะสามารถทำลายขยะหรือเผาขยะโดยไม่ก่อให้เกิดสารพิษในอากาศ และเหลือกากเถ้าถ่านจากการเผาไม่มากนก ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค จึงต้องถือเอาภาระที่จะทำหน้าที่กำจัดขยะในเบื้องต้น เพื่อช่วยรักษาโลกให้ลูกหลานได้อยู่อาศัยต่อไป โดยมีขยะตกค้างอยู่น้อยที่สุด

การกำจัดขยะโดยผู้บริโภคเป็นวิธีการกำจัดขยะที่ได้ผลดีที่สุดทำได้ง่ายที่สุด เช่นกันโดยการไม่สร้างขยะขึ้นในบ้านเรือน สมาชิกทุคนในครอบครัวสามารถมีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ป้องกันการเกิดขยะนี้ได้

            ทุกท่านคงเคยได้ยินคำว่า “เหมาโหลถูกกว่า” คำ ๆ นี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่ลดปริมาณขยะได้ เช่น ผงซักฟอกกล่องใหญ่ราคาเฉลี่ยจะถูกกว่าการซื้อกล่องเล็กรวมกันเพื่อให้ได้ปริมาณเท่ากล่องใหญ่ เช่นเดียวกันกับน้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม หากจำเป็นต้องใช้หรือแม้แต่น้ำมันเครื่องของรถยนต์สำหรับคุณพ่อบ้าน รวมไปถึงน้ำมันพืช น้ำปา ซีอิ๊ว น้ำส้มสายชู ฯลฯ

หรือหากการซื้อสินค้าบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ไม่สะดวกสำหรับบางครอบครัว จำเป็นต้องซื้อหาขวดหรือกล่องขนาดเล็ก ก็ควรเลือกชนิดที่บรรจุภัณฑ์ชนิดเติมได้ เพราะนอกจากราคาจะถูกกว่าแล้ว ขนาดของขยะยังเล็กกว่ามากด้วย

การกระตุ้นเตือนจิตสำนึกดังกล่าว สื่อมวลชนต่าง  ๆ ควรถือเป็นภาระสำคัญที่จะสอดแทรกข้อมูล ความรู้ ข้อคิด ข้อเสนอแนะ ลงไปในสารของสื่อทุก ๆ แขนง ไม่ว่าจะเป็นการจัดรายการวิทยุ รายการเพลง ทางโทรทัศน์ รายการเกมส์โชว์ รายการสนทนาสาระบันเทิงต่างๆ  หรือแม้แต่ในละครบางประเภท

ภาครัฐควรกลับมาให้ความสำคัญกับการรณรงค์เผยแพร่ให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมอีก  โดยเน้นด้านการคิดค้นวิธีการ สิ่งละอันพันละน้อย เสนอแก่ผู้บริโภคให้สามารถนำไปปฏิบัติได้โดยง่าย ทำได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นวิธีการง่ายที่สุด ในการช่วยกันฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่ทรุดโทรมให้กลับมาดีขึ้นอีกเพื่อโลกอันสวยงามของลูกหลานของเราทุกคน

ในประเทศไทย ซึ่งมีประชากรอยู่อาศัยรวมกันกว่า 70 ล้านคน ผลิตขยะทิ้งไว้บนโลกวันละหลายพันตัน วิธีการกำจัดขยะที่ดีที่สุดคือ การกำจัดในโรงงานขยะโดยการเผาอย่างถูกวิธี ซึ่งจะไม่ทำลายสภาพอากาศและเหลือเถ้าถ่านจากการเผาไม่มากนัก แต่วิธีนี้ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย ปัจจุบันในเมืองใหญ่ ๆ ยังคงกำจัดขยะโดยวิธีการฝังกลบ ซึ่งวิธีนี้อาจจะต้องยุติลงในอนาคต เมื่อไม่สามารถหาพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อการฝังกลบขยะได้อีกต่อไป

แต่ก่อนที่จะถึงวันนั้น การกำจัดขยะที่บ้าน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และเป็นวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง วิธีการง่าย ๆ ที่ทุกคนทำได้คือ การสร้างขยะให้น้อยที่สุด นั่นก็คือการไม่ทิ้งขยะหรือทิ้งให้น้อยที่สุดนั่นเอง

การตัดสินใจไม่ทิ้งขยะ ไม่ได้เกิดขึ้นในขณะที่เกิดขยะแล้วและกำลังตัดสินใจว่าจะทิ้งดีหรือไม่  แต่จะต้องตัดสินใจตั้งแต่ตอนที่กำลังเลือกซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคมาใช้ในบ้านทีเดียว

ในการเลือกซื้อของสมาชิกในครอบครัวทุกคนจะมีข้อพิจารณาอยู่ 2 – 3 ประการ เช่น ราคาพอเหมาะกับเงินในกระเป๋า คุณภาพพอเหมาะกับราคา สินค้าตรงกับความต้องการ แบบสวยถูกใจ ฯลฯ ซึ่งหากทุกคนตัดสินใจเข้าร่วมในขบวนการลดขยะแล้ว ข้อพิจารณาที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง ซึ่งจะต้องนำมาใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินด้วย คือ หากมันจะกลายเป็นขยะทันทีหลังการใช้งานเพียงไม่กี่นาที หรือไม่กี่ชั่วโมง น่าจะลองมองหาของอย่างอื่นมาทดแทน ซึ่งใช้งานเกือบเท่าเทียมกัน แต่มันไม่ได้กลายเป็นขยะไปในทันทีทันใด เช่น

การซื้อนมพร้อมดื่มที่เป็นขวด น่าจะดีกว่านมที่บรรจุในกล่อง เนื่องจากขวดยังสามารถนำกลับมาใช้ได้อีกหลายครั้ง แล้วยังสามารถขายเป็นเศษพลาสติก เพื่อนำไปผลิตเป็นพลาสติกในรูปแบบอื่นต่อไปอีก

หากจำเป็นต้องดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำอัดลม การซื้อเป็นขวดย่อมดีกว่าการซื้อเป็นกระป๋องหรือกล่องเพราะขวดน้ำผลไม้ สามารถใช้บรรจุดื่มอื่น ๆ ได้อีก หรืออย่างน้อยสามารถนำกลับมาผลิตใช้ใหม่ได้

ในการนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่นี้ รัฐควรมีการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้ทั่วกันว่า ได้มีการนำกลับมาผลิตใช้ได้ใหม่จริง มีการดำเนินการแล้ว และบรรจุภัณฑ์ประเภทใด สามารถนำมาผลิตใหม่ได้อย่างแน่นอน เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อในสิ่งที่เหมาะสม และแน่ใจว่าตนเองได้ร่วมมือในการลดปริมาณขยะอย่างแท้จริง

การตัดสินใจของคุณที่เป็นผู้บริโภค จึงมีค่าต่อการแก้ปัญหาเหล่านี้มาก หากท่านไม่ซื้อของพวกนี้มา ท่านก็ไม่เป็นผู้สร้างขยะจำนวนมากเหล่านั้น และลดการการสั่งสินค้าต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายอีกด้วย

ในส่วนของผู้ทำธุรกิจกับสินค้าเหล่านี้ หากท่านจะคำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดจากสังคมและชุมชนที่เป็นของลูกหลานท่านก็ควรพิจารณาเลือกสั่งสินค้าที่จะมีขยะเหลือเป็นขยะปริมาณมากจำนวนน้อยลง น่าจะยังมีขนมอื่นๆ  อีกมาก  ไม่ก่อขยะจำนวนมาก เท่ากับท่านหลีกเลี่ยงการสั่งขยะเข้ามาทับถมประเทศของท่านเอง

ในส่วนของภาครัฐ การรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจการเลือกซื้อสินค้าให้เหมาะสม น่าจะเป็นนโยบายการกำจัดขยะแต่ต้นทางที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการเพิ่มจำนวนรถขนขยะ คนขับรถ และคนเก็บขนขยะอย่างแน่นอน


บทความโดย อ.ธนวันต์ สินธุนาวา
นายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม